วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ศาลหลักเมืองจังหวัดสุราษฎร์ธานี ศรีแห่งเมืองสุราษฎร์ฯ

ศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ที่ สนามศรีสุราษฎร์  ใกล้แม่น้ำตาปี  ต.ตลาด อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00-18.00 น.  การเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ใช้เส้นทางสายธนบุรี-ปากท่อ  ออกสู่จังหวัดประจวบคีรีขันต์ ชุมพร  เข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 401  ถึงสี่แยกท่ากูบ เลี้ยวซ้ายเข้าตัวเมืองสุราษฎร์ฯ  ไปตามถนนศรีวิชัย  ผ่านโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี  ข้ามสะพานข้ามคลองมะขามเตี้ย ผ่านหน้าโรงแรมวังใต้ เข้าสู่ถนนตลาดใหม่ ขับผ่านสี่แยกดอนนก จะเห็นศาลหลักเมืองอยู่ทางซ้ายมือเยื้องกับสถานีตำรวจ


 

ศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานี สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2539 เพื่อเป็นพระราชสักการะและเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และเพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวจังหวัดสุราษฏร์ธานี  ออกแบบโดยคณะช่างจากกรมศิลปากร รูปแบบของสถาปัตยกรรมเป็นแบบศรีวิชัย





ตัวองค์ศาลหลักเมืองประกอบด้วยเจดีย์ประธานเป็นรูประฆังคว่ำ  มีเจดีย์บริวารเป็นรุประฆังคว่ำ 4 มุมลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ อีก 2 ชั้น  มุมฐานเจดีย์ทั้ง 4 มุม ตกแต่งปูนปั้นรูปพญานาค  ตัวองค์สาลหลักเมืองมีขนาดภายในกว่าง 6 x 6 เมตร ทางเข้าองค์ศาลทำเป็นซุ้มจตุรมุข ตรงหลังคาของซุ้มจตุรมุขตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปราหูอมจันทร์ สถาปัตยกรรมของตัวองค์ศาลหลักเมืองเป็นแบบศรีวิชัย นำเค้าโครงมาจากเจดีย์ของวัดพระบรมธาตุไชยา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ทางศิลปกรรมมาเป็นแม่แบบ



 

ก่อนขึ้นไปสักการะศาลหลักเมือง ซื้อเครืองสักการะกันก่อนค่ะ  ชุดที่เห็นในภาพนี้ทำบุญแล้วแต่ศรัทธาค่ะ มีดอกไม้ ธูป 9 ดอกและเทียน อีก 1 เล่ม  เจ้าของบล็อกทำบุญไป 20 บาท






ส่วนชุดนี้ชุดใหญ่ค่ะ  มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าสี และน้ำมัน  ชุดละ  60  บาท





ได้ดอกไม้ธูปเทียนแล้วก่อนขึ้นไปสักการะองค์ศาลหลักเมือง ต้องถอดรองเท้าก่อนนะคะ






ขึ้นไปแล้วก็เอาดอกไม้วางไว้บนโต๊ะที่เขาจัดไว้ให้ จุดธูปเทียน  ปักตรงที่เขาจัดที่ไว้ให้ค่ะ







แล้วก็กลับมานั่งตรงที่นั่งที่เขาจัดไว้ให้  ตั้งนะโม 3 จบ กล่าวคำบูชาศาลหลักเมือง  ก็เป็นอันเสร็จพิธี










เสาหลักเมืองแกะสลักจากต้นราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นไม้มงคล ส่วนยอดสลักเป็นรูปพรหมสี่หน้า ลงรักปิดทอง  ล้อมรอบด้วยเสาหลักเมืองจำลองอีก 4  เสา  ตั้งอยู่บนฐานหินแกรนิต  สำรับต้นราชพฤกษ์ที่นำมาแกะสลักเป็นเสาหลักเมืองเดิมเป็นต้นไม้ของนายเพิง รำเพย  อยู่ที่บ้านหาดหอยคล้า เลขที่ 30 หมู่ที่  1  ต.เขาวง  อ.บ้านตาขน  จ.สุราษฎร์ธานี  ได้ทำพิธีบวงสรวงและทำพิธีตัดดค่นเมื่อวันที่  30 มกราคม  2539  แล้วนำไปแกะสลักที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยนายช่างพรชัย วัฒนวิกย์กิจ






แผ่นหินเกรนิตตั้งอยู่บนฐาน 8 เหลี่ยมซึ่งปั้นลวดลายชั้นแรกเป็นรูปช้างอยู่ในซุ้มจำนวน 8 ตัว ลงรักปิดทอง  ชั้นที่  2  ปั้นลวดลายเป็นรูปบัวเล็บช้างลงรักปิดทอง ภายในองค์ศาลหลักเมืองตกแต่งผนังและพื้นด้วยหินอ่อนสีครีม






ชมด้านในองค์ศาลหลักเมืองกันแล้วเดินดูบริเวณรอบๆกันบ้างนะคะ  บริเวณโดยรอบเป็นสนามหญ้ากว้างขวางมาก เหมาะสำหรับไปนั่งเล่นพักผ่อนหรือทำกิจกรรมกันค่ะ  โดยส่วนใหญ่แล้วประชาชนและนักท่องเที่ยวจะไปสักการะศาลหลักเมืองกันในตอนเย็น ๆ  ตอนที่เจ้าของบล็อกไปเป็นเวลาใกล้เที่ยงค่ะผู้คนก็เลยค่อนข้างบางตา เพราะอากาศร้อนมากๆ








 






































ถ้าหากเพื่อนๆ มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี  ก็อย่าลืมแวะชมและสักการะศาลหลักเมืองสุราษฎร์ธานีกันด้วยนะคะ   ลาไปก่อนสำหรับบล็อกนี้  ขอบคุณและสวัสดีค่ะ 

วันศุกร์ที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2556

ก่อนคิมหันต์จะลา มาทำมะม่วงแช่อิ่ม หวานๆ เย็นๆ กินคลายร้อนกันค่ะ

พอฤดูร้อนย่างกรายเข้ามา บ้านเราก็มีผลไม้ชนิดหนึ่งที่วางขายเกลื่อนกลาดและราคาถูกมาก ๆ เรียกว่าเป็นผลไม้ประจำฤดูร้อนก็ว่าได้นั่นคือ "มะม่วง"  ทางภาคใต้มีมะม่วงชนิดหนึ่งที่ออกมาในหน้าร้อนเยอะมากค่ะ แถวบ้านเรียกว่า "มะม่วงเบา"  ที่เขานิยมใช้ปรุงอาหารแทนมะนาวหน้าแล้งที่แพง โค ตะ ระ แพงนั่นหละค่ะ วันนี้เราจะเอามะม่วงเบามาทำมะม่วงแช่อิ่มกัน







ไปตลาดซื้อมา 1 ก.ก   เวลาเลือกซื้อมะม่วง เลือกที่ลูกสีเขียวอ่อนนะคะ  อย่าเลือกที่ลูกสีเขียวเข้มเพราะจะแก่เกินไป  เวลาเอามาดองเนื้อจะเละค่ะ






ได้มะม่วงมาแล้วปอกเปลือก ผ่าครึ่ง แล้วก็ผ่าครึ่งอีกที  หรือจะไม่ผ่าแต่เอามีดกรีดตามภาพก็ได้ค่ะ  จากนั้นล้างให้สะอาดเทน้ำออก  ใส่น้ำลงไปใหม่ให้ท่วมมะม่วง






ใส่เกลือที่เป็นเม็ดลงไปสัก 3 กำมือค่ะ ใช้มือกวนให้เกลือละลาย  จากนั้นเอาปูนที่ใช้กินกับหมากก้อนขนาดสักประมาณหัวแม่มือละลายลงไปด้วย  ที่ใส่ปูนลงไปเพื่อให้มะม่วงกรอบค่ะ  เสร็จแล้วเอาฝาปิด  ดองเกลือไว้แบบนี้สัก  2  คืน






คืนแรกผ่านไป  สีจะได้ประมาณนี้ค่ะ






พอครบ 2  คืนจะกลายเป็นสีเหลืองแบบนี้  หลังจากครบคืนที่  2  แล้ว  เราก็เทน้ำเกลือออก  ล้างมะม่วงให้สะอาด 






เติมน้ำเปล่าลงไป  แช่มะม่วงไว้ในน้ำสัก  2  ชั่วโมงค่ะจากนั้นเทน้ำออก  แล้วใส่น้ำใหม่ลงไปอีก  ทำแบบนี้สัก  3  ครั้งค่ะ  เพื่อให้มะม่วงคายรสเค็มจากการดองเกลือออกมา






ระหว่างที่รอให้มะม่วงจืด โดยการเปลี่ยนน้ำ  เราก็มาเคี่ยวน้ำเชื่อมกันก่อนนะคะ  เอาน้ำตาลทรายแดงครึ่ง ก.ก. เทใส่หม้อ  ใส่น้ำลงไปสัก 1 ถ้วยตวงคนให้ละลาย แล้วเอาขึ้นตั้งไฟเคี่ยวไปจนน้ำงวด  มีลักษณะเป็นน้ำข้นๆ แต่อย่าให้เหนียวนะคะ  เมื่อน้ำเชื่อมได้ที่แล้วปิดไฟ พักไว้ให้เย็นสนิท






สำหรับมะม่วงเมื่อแช่น้ำเปล่าครบ  3 ครั้งแล้วเอาขึ้นมาพักไว้บนตะแกรงจนสะเด็ดน้ำ






พอมะม่วงสะเด็ดน้ำดีแล้ว และน้ำเชื่อมเย็นสนิทแล้วก็เอามะม่วงลงไปแช่ในน้ำเชื่อมได้เลยค่ะ ควรแช่ในภาชนะเคลือบหรือภาชนะที่เป็นแก้วนะคะ  มะม่วงจะได้ไม่ดำ  แช่มะม่วงไว้ในน้ำเชื่อม  1  คืนค่ะ  พอเช้าตักเอามะม่วงออกมาจากภาชนะ  ส่วนน้ำเชื่อมเอาไปตั้งไฟเคี่ยวใหม่ให้เข้มข้นเหมือนครั้งแรก  พักไว้ให้เย็นสนิทจึงเอามะม่วงลงไปแช่อีก 1 คืน  ก็รับประทานได้แล้วค่ะ













เวลาจะรับประทาน  เติมน้ำแข็งลงไปหน่อย จะได้มะม่วงแช่อิ่มที่หวาน กรอบ เย็นชื่นใจค่ะ





หน้าร้อนปีหน้าคงมีไอเดียดีๆ ที่จะทำอะไรรับประทานคลายร้อนกันแล้วนะคะ  ^_^  

วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

แกงไตปลาแบบใส่กะทิ


ตามปกติแกงไตปลาที่เห็นกันบ่อยๆในท้องตลาดมักเป็นแกงในแบบคล้ายๆแกงป่า  คือน้ำแกงจะใช้น้ำเปล่าแล้วละลายไตปลากับน้ำพริกแกงลงไป  ใส่ปลาย่างและผักต่างๆ  แต่ในแถบจังหวัดสุราษฎร์ธานีและอาจรวมไปถึงจังหวัดไกล้เคียง  มีการแกงไตปลาอีกแบบหนึ่งคือ "แกงไตปลาแบบใส่กะทิ"  การปรุงแกงไตปลาแบบนี้ก็เหมือนกับแกงไตปลาแบบแรกนั่นหละค่ะ  เพียงแต่เราใช้กะทิแทนน้ำเปล่า  จึงทำให้แกงไตปลาแบบนี้มีรสชาติที่นุ่มนวลกว่าแบบแรก เนื่องจากได้ความมันจากกะทิมาช่วยทำให้รสชาตินุ่มนวลขึ้น

   
 


เครื่องปรุง  มีปลาโอย่าง  1 ตัว  น้ำพริกแกงเผ็ด  100  กรัม  ไตปลาแบบขวด  1  ขวด (ใช้จริง 3/4 ขวด)  มะพร้าวขูด  ครึ่งก.ก.  





ผักที่ใช้ในแกงไตปลา มีมะเขือเปราะ  ฟักทอง หน่อไม้ต้ม ถั่วฝักยาว ใบมะกรูด พริกชื้ฟ้าเม็ดใหญ่  แต่วันนี้เจ้าของบล็อกหาผักได้แค่สองอย่างคือ มะเขือ กับ ฟักทอง  ฤดูแล้งผักหายากและมีราคาแพงค่ะ  (โทษลมโทษแล้งไปละกาน  555)





แกะเนื้อปลาย่างออกเป็นชิ้นๆ เอาก้างออกให้หมด  ให้ชิ้นใหญ่หน่อยนะคะ  เพราะถ้าแกงแล้วกินไม่หมดในมื้อเดียวเราต้องอุ่น พออุ่นหลายๆครั้งเนื้อปลาะจะเละ



 

ผักทั้งสองอย่างล้างให้สะอาดแล้วหั่นเป็นชิ้นๆตามภาพ ฟักทองเกลาเปลือกออกบ้างก็ได้ค่ะจะได้ไม่แข็งหั่นให้ชิ้นใหญ่นิดนึงค่ะ   ส่วนมะเขือเปราะผ่าซีกครั้งเดียวพอ แต่ถ้าลูกใหญ่มากก็ผ่าสองครั้งได้  มะเขือผ่าแล้วแช่น้ำไว้ก่อนนะคะ ไม่งั้นจะดำ   เตรียมผักเสร็จแล้วก็มาคั้นกะทิกันค่ะ  คั้นครั้งแรกใส่น้ำประมาณ 1  ถ้วยตวง  กรองแล้วจะได้หัวกะทิแยกไว้ก่อน  จากนั้นก็คั้นอีกสองครั้งใส่น้ำครั้งละ  1  1/2  ถ้วยตวง  จะได้หางกะทิประมาณ  3 ถ้วยตวงค่ะ



 

เครื่องปรุงทั้งหมดเตรียมพร้อมแล้วก็ลงมือแกงกันได้เลย  เจ้าของบล็อกไม่มีพริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่ ใช้เม็ดเล็กแทนนะคะ  ล้างให้สะอาดแล้วบุบพอแตกพักไว้ก่อน



เอาหางกะทิใส่หม้อตั้งไฟ รอให้เดือด ใส่ไตปลาลงไปครึ่งขวดก่อนนะคะ  เผื่อว่าไตปลาจะเค็มมาก  ถ้าเค็มไม่พอค่อยเติมทีหลังได้  ใส่ไตปลาลงไปแล้วอย่าเพิ่งใช้ช้อนคนนะคะไม่งั้นจะคาว ต้องรอให้เดือดก่อนจึงคนได้ 






จากนั้นก็ใส่น้ำพริกแกงลงไป  คนให้น้ำพริกแกงละลายค่ะ  ทิ้งให้เดือดอีกครั้งใส่ฟักทองลงไปก่อน เพราะสุกยากกว่ามะเขือ





ลดไฟให้แรงปานกลาง ต้มฟักทองไว้สัก  5  นาทีค่ะ  ระหว่างนั้นก็ใช้ทัพพีคนบ้าง อย่าให้ก้นหม้อไหม้เดี๋ยวจะไม่อร่อย ^_^






พอฟักทองใกล้จะสุก  ใส่เนื้อปลาที่แกะไว้กับมะเขือลงไป  ต้มต่อสัก 2-3 นาทีค่ะ  






พอมะเขือใกล้จะสุกใส่หัวกะทิลงไป ใช้ทัพพีคนแล้วชิมรสดูให้รสชาติออกเค็มๆ มันๆค่ะ  ถ้ายังไม่เค็มจะใส่ไตปลาเพิ่มต้องรอให้น้ำแกงเดือดก่อนจึงใส่ไตปลาลงไป  เจ้าของบล็อกใส่เพิ่มอีกครึ่งหนึ่งของครึ่งขวดที่เหลือค่ะ อย่าลืมนะคะ ใส่ไตปลาแล้วอย่าเพิ่งคนต้องให้น้ำเดือดอีกครั้งจึงใช้ทัพพีคนได้ 






คนจนทุกอย่างเข้ากันดีแล้ว ปิดไฟได้เลยค่ะ  เพราะเมื่อเราใส่หัวกะทิลงไปแล้วจะไม่เคี่ยวนานเดี๋ยวกะทิจะแตกมัน 






ปิดไฟแล้วเอาพริกชี้ฟ้าที่พักไว้ใส่ลงไป  ถ้ามีใบมะกรูดก็ฉีกใส่ลงไปด้วยนะคะ  แล้วก็ตักเสิร์ฟได้เลย















แกงไตปลาถ้าจะกินให้อร่อยต้องมีผักสดเยะอๆค่ะ  แล้วก็อาจจะมีไข่เจียวอีกสักจานเท่านี้ก็อร่อยจนลืมอิ่มแล้วเน๊าะ!  แกงไตปลาใส่กะทิแบบนี้ยังใช้เป็นน้ำยากินกับขนมจีนได้อีกด้วย  อร่อยไม่แพ้น้ำยาแกงเขียวหวานไก่ค่ะ   สุดท้ายนี้ขอบคุณมากนะคะที่แวะเข้ามาชม กลับมาพบกันใหม่คราวหน้า  สวัสดีค่ะ