วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ผัดไข่กับผักกาดดอง

สวัสดีค่ะ   วันนี้มาชวนเพื่อนๆเข้าครัวทำเมนูนูง่ายๆแต่อร่อยกันสักเมนูนะคะ  ถ้าพูดถึง"ผัดไข่กับผักกาดดอง"  คงจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก  แถมเมนูนี้อาจจะเป็นจานโปรดของใครหลายๆคนด้วยก็ได้  ซึ่งรวมถึงเจ้าของบล็อกเองด้วยค่ะ  อันเนื่องมาจากอาหารจานนี้เป็นเมนูที่อร่อย  รสชาติเปรี้ยวๆของผักกาดดองช่วยแก้อาการเบื่ออาหารได้ดี  ส่วนวิธีการทำก็ง่ายมาก ใช้วัตถุดิบไม่เยอะสามารถหาซื้อได้ตามท้องตลาดทั่วๆไป  เมนูผัดไข่กับผักกาดดองนี้จะรับประทานกับข้าวสวยหรือข้าวต้มก็อร่อยได้เหมือนกันค่ะ  ตามท้องตลาดที่เขาทำขายสำเร็จรูปส่วนมากจะใส่ไข่ ผักกาดดองและเครื่องปรุงรส  แต่ที่เจ้าของบล็อกจะทำวันนี้มีการเพิ่มต้นหอม ผักชีและพริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่เข้ามาด้วย   เพื่อให้อาหารมีหน้าตาและสีสันน่ารับประทานมากขึ้น   ถ้าเพื่อนๆพร้อมแล้วก็ลงมือกันเลยค่ะ  




เครื่องปรุง

ผักกาดดองแบบที่ดองเฉพาะก้าน 1 หัว , ไข่เป็ดหรือไข่ไก่  2  ฟอง , กระเทียม  5  กลีบ
พริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่ สีเขียว แดง  อย่างละ  1  เม็ด ,  ต้นหอม ผักชี ตามชอบ
น้ำมันพืชเล็กน้อย  น้ำปลาดี  น้ำตาลทราย






วิธีทำ

1.หั่นผักกาดดองเป็นชิ้นบางๆ ล้างให้สะอาด บีบเอาน้ำที่มีรสเปรี้ยวอยู่ในตัวผักกาดออกมาให้มากที่สุด
2.แกะเปลือกกระเทียม ล้างให้สะอาด บุบพอแตก
3.ต้นหอมผักชี พริกชี้ฟ้าล้างให้สะอาด หั่นต้นหอม ผักชีเป็นท่อนๆ  พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ







4.เอากระทะตั้งไฟ ใส่น้ำมัน  พอร้อนใส่กระเทียมลงไปเจียวให้หอม
5.ตอกไข่ใส่ลงไป  รอให้ไข่ด้านนอกสุก ใช้ตะหลิวสับเป็นชิ้นๆ ผัดจนไข่จับตัวแข็ง
6.ใส่ผักกาดดองลงไปผัดให้เข้ากัน  ใส่น้ำปลา น้ำตาลทรายตามชอบ
7.ชิมรสชาติได้ที่แล้วใส่ต้นหอม ผักชี และพริกชี้ฟ้าลงไป (เก็บไว้โรยหน้าบ้าง)
   ผัดพอผัดสลด ตักใส่จาน โรยด้วยต้นหอม ผักชี พริกชี้ฟ้าให้สวยงาม








หิวยังคะ  ต้กข้าวมาทานด้วยกันค่ะ ^_^

วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

แผ่นรองแก้วโครเชต์ 4 สี

งานชุดนี้เจ้าของบล็อกลองหัดถักโครเชต์ดูค่ะ  เห็นว่าช่วงนี้งานโครเชต์นิยมกันมากเลยอยากลองทำดูบ้าง  ได้แพทเทิร์นมาจากหนังสือประดิษฐ์ประดอย  เข้าใจว่าน่าจะเป็นฉบับพิเศษ  ชื่อหนังสือคือ "งานสวยด้วยลายโครเชต์"  เป็นการสอนถักแบบพื้นฐานง่ายๆ  ส่วนใหญ่จะถักเป็นดอกเล็กๆ หลายแบบ หลายขนาด ทั้งที่เป็นดอกแบบวงกลม สี่เหลี่ยม วงรี  การถักดอกไม้  ใบไม้ฯลฯ 

ซึ่งแบบที่เจ้าของบล็อกนำมาถักเป็นที่รองแก้วนี้  ตามแบบในหนังสือจริงๆมีลายเพียง  5  แถวเท่านั้น  ถักออกมาแล้วจะมีขนาดกว้าง 10 เซ็นติเมตร   ยาว  10 เซ็นติเมตร  ซึ่งหากจะทำเป็นที่รองแก้วก็จะเล็กเกินไป  เจ้าของบล็อกจึงถักลายเพิ่มเข้าไปอีก  1  แถว  โดยมีน้องสาวที่เคยทำงานโครเชต์มาก่อนคอยเป็นพี่เลี้ยงให้  จริงๆแล้วตอนที่เห็นแบบในหนังสือนึกอยากทำหลายอย่างมาก  ทั้งปลอกหมอนอิง ผ้าปูโต๊ะ ผ้าคลุมไหล่ ฯลฯ  แต่ทำไปทำมาจากที่วางแผนไว้ซะ "มังกรเชียว"  ก็ทำได้แค่ "งูเขียวเอง"  นั่นก็คือแผ่นรองแก้วชิ้นเล็กๆอย่างที่เอามาลงบล็อกนี่หละค่ะ (ยังจะกล้าเอามาโชว์เน๊าะ)  เพื่อนๆเข้ามาดูแล้วถ้าจะกรุณาฝากคำติชมไว้ด้วย  จะขอบพระคุณอย่างยิ่งเลยค่ะ   สามารถแสดงความคิดเห็นกันได้ในส่วนของคอมเม้นท์ด้านล่างบล็อกนะคะ ^_^






ตอนแรกที่ตั้งใจจริงๆคือถักเป็นดอกสี่เหลี่ยมเล็กๆ แล้วเอามาถักต่อดอกให้เป็นที่รองจานหรือผ้าปูโต๊ะผืนใหญ่ๆ  แต่ลองต่อดอกแล้วไม่สวยค่ะ  เลยต้องรื้อออกมา  ถักลายเพิ่มเข้าไปอีก  1  แถว  แล้วใส่ลายริมสีขาวเข้าไป  จึงกลายเป็นที่รองแก้วอย่างที่เห็นนี่หละค่ะ  พอทำงานชิ้นแรกสำเร็จชักรู้สึกติดใจเน๊าะ! อยากจะทำงานชิ้นต่อไปออกมาเรื่อยๆค่ะ  เพราะการได้ทำงานฝีมือแบบนี้นอกจะทำให้รู้สึกภาคภูมิใจเวลาที่ทำงานสำเร็จแล้ว ยังได้ฝึกสมาธิและช่วยให้ใจเย็นขึ้นมากเลย  แถมยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์อีกด้วย  ไม่แน่ในอนาคตถ้าทำได้ดีก็อาจจะทำเป็นอาชีพเสริมด้วยก็ได้นะคะ 








สำหรับบล็อกนี้ะก็คงจะฝากไว้เพียงเท่านี้นะคะ  ขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาชมและจะยินดีมากค่ะถ้าจะกรุณาฝากคำติชมไว้   กลับมาพบกันใหม่คราวหน้านะคะ  ขอบคุณและสวัสดีค่ะ  _/\_


วันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

น้ำพริกมะอึก

พูดถึง"มะอึก" แล้ว ปัจจุบันนี้จะยังมีใครรู้จักอีกบ้างหนอ  สมัยก่อนตอนที่เจ้าของบล็อกยังเด็กและยังอยู่ที่บ้านในชนบท  จำได้ว่าแทบทุกบ้านจะปลูกมะอึกไว้เป็นพืชสวนครัว  ชาวปักษ์ใต้นิยมนำมะอึกมาแกงส้ม  ถ้าจะให้อร่อยก็ต้องแกงกับปลาหมอตัวอ้วนๆ   หรือไม่ก็ใช้มะอึกมาตำน้ำพริกเนื่องจากมะอึกสุกจะมีรสเปรี้ยวเล็กน้อย  ปัจจุบ้นนี้ไม่ค่อยจะมีแล้วยิ่งเป็นตลาดในเมืองยิ่งหายากมาก นานๆจึงจะได้เห็นสักที  หลายวันก่อนน้องสาวไปเจอที่ตลาดนัดใกล้บ้าน   หิ้วกลับมา 1 จาน  เห็นแล้วนึกอยากกินข้าวสวยร้อนๆคลุกน้ำพริกมะอึกค่ะ












เครื่องปรุง

มะอึกประมาณ  20  ลูก , กระเทียม  2 - 3  กลีบ , พริกขี้หนู  10 - 12 เม็ด (แล้วแต่ชอบเผ็ดมาก เผ็ดน้อย) , กะปิ  1  ช้อนโต๊ะ , น้ำตาลทราย   1  ช้อนชา , น้ำปลาดี , ผักสดตามชอบ 






วิธีทำ 

ผักสด แช่น้ำไว้สักหนึ่งชั่วโมงแล้วล้างให้สะอาด 

นำมะอึกมาขูดขนออกให้หมด ล้างให้สะอาด ซอยบางๆ พักไว้ก่อน  (อย่าล้างมะอึกก่อนที่จะขูดขนออกนะคะ เพราะจะทำให้ขูดยากมาก ถ้าจะขูดขนมะอึกให้เสร็จเร็วๆ  ตอนเด็กๆเคยเห็นแม่เอามะอึกไปถูกับกาบมะพร้าว จะช่วยให้ขูดขนมะอึกได้เร็วและสะอาดมากค่ะ) 

กระเทียมแกะเปลือกออก ล้างให้สะอาดพร้อมกับพริกขี้หนู ใส่ลงไปในครก  ตำพอหยาบๆ ใส่กะปิลงไปตำให้ส่วนผสมทั้งหมดเข้ากันดี  จากนั้นใส่มะอึกพระเอกของเราลงไป ตำให้มะอึกช้ำให้มากที่สุด  ตอนนี้ตำเบาๆนะคะ อย่าแรงมากเดี๋ยวจะกระเด็นเข้าตา 


จากนั้นชิมรสดูให้ออกรสเปรี้ยว เค็ม ถ้าชอบหวานด้วยเติมน้ำตาลทรายได้ค่ะ  และถ้ายังเปรี้ยวไม่พอก็บีบมะนาวลงไปซักซีกก็ได้เช่นกัน เจ้าของบล็อกใส่น้ำตาลทรายลงไป  1  ช้อนชากับมะนาวอีก  1  ซีก  น้ำปลาดี  1  ช้อนโต๊ะ เพราะกะปิไม่ค่อยเค็ม  ปรุงรสจนได้ที่แล้วตักใส่ถ้วยเสิร์ฟได้เลยค่ะ  และถ้าจะให้อร่อยเลิศ  เมื่อตักน้ำพริกออกจากครกแล้ว เจ้าของบล็อกชอบตักเข้าสวยร้อนๆใส่ลงไปคลุกในครกแล้วตักใส่จาน   ทำแบบนี้ช่วยให้เจริญอาหารพอๆกับเวลาที่เอาข้าวลงไปคลุกในกระทะหลังจากผัดเผ็ด ผัดกระเพราะ ฯ นั่นหละค่ะ 

เป็นไงคะ น้ำพริกมะอึก  ไม่ยากเลยใช่ไหมคะ  มะอึกนอกจากจะใช้ปรุงอาหารแล้วยังมีสรรพคุณทางยาคือ ผล ใช้แก้ไอ ลดเสมหะ   ใบ ใช้พอกแก้คัน    ราก ใช้แก้ปวด  แก้ไข้ พอกแก้คัน  และเมล็ด  ใช้แก้ปวดฟันได้ด้วยค่ะ  มีประโยชน์มากขนาดนี้ถ้าบ้านใครพอจะมีพท้นที่ข้างๆบ้าน  ลองหามะอึกมาปลูกไว้สักต้นสองต้นนะคะ  มะอึกปลูกง่ายมาก แค่เมล็ดร่วงลงพื้นยังสามารถงอกเป็นต้นใหม่ได้เลยค่ะ

สำหรับบล็อกนี้ก็คงต้องลาไปเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ  กลับมาพบกันใหม่คราวหน้า  สวัสดีค่ะ

วันพฤหัสบดีที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

กะปิคั่ว สูตรอาหารง่ายๆ อร่อยและประหยัด

สวัสดีค่ะเพื่อนๆ  กลับมาพบกันใหม่อีกครั้งแล้วนะคะ   วันนี้เจ้าของบล็อกมีเมนูง่ายๆและประหยัดมาฝาก แถมอร่อยด้วยมาฝากให้เพื่อนๆลองทำกันดู   เจ้าของบล็อกได้สูตรนี้มาจากพี่คนหนึ่งที่ จ.สงขลา  เห็นเขาทำมากินที่ที่ทำงาน ลองชิมดู ก็อื้ม! อร่อยดี   เลยเอ่ยขอสูตรจากพี่เขามาลองทำบ้าง  มีสูตรกะปิคั่วสูตรนี้ไว้ไม่เสียหลายค่ะ  ยามขัดสนและเบื่ออาหาร เมนูนี้ช่วยให้รอดตายมาหลายครั้งแล้ว อิอิ  ไปดูเครื่องปรุงและวิธีทำกันเลยค่ะ







เครื่องปรุง

กะปิ                                                                  1    ช้อนโต๊ะ 
ไข่ไก่หรือไข่เป็ด                                                2    ฟอง
พริกชี้ฟ้าเม็ดเล็ก                                        10-15    เม็ด
หอมแดง                                                           3    หัว
ตะไคร้                                                              2     ต้น
พริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่ สีเขียว แดง  อย่างละ                1  เม็ด
น้ำปลาดี  น้ำตาลทราย  น้ำมันสำหรับทอด








ผักทุกชนิดล้างน้ำให้สะอาด  หอมแดงปอกเปลือกออกล้างให้สะอาดแล้วซอยบางๆ  ใบมะกรูดหั่นฝอย  ตะไคร้ซอยบางๆ  พริกชี้ฟ้าเม็ดเล็กหั่นตามภาพ  พริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่หั่นแฉลบ






ตอกไข่ใส่ชาม  ใส่เครื่องปรุงทุกอย่างลงไปในชาม (อย่าลืมเหลือใบมะกรูดหั่นฝอยกับพริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่ที่หั่นแล้วไว้เล็กน้อยนะคะ  เอาไว้โรยหน้า)  ใช้ซ่อมตีไข่และส่วนผสมทุกอย่างให้เข้ากันดี  ดูให้กะปิละลายให้หมดนะคะ  เพราะถ้ายังเป็นก้อนอยู่เวลาเคี้ยวโดนจะเค็มค่ะ เมื่อส่วนผสมทุกอย่างเข้ากันดีแล้ว  ลองเอานิ้วแตะๆมาชิมดูให้รสออกเค็มเล็กน้อย  ถ้าชอบหวานปะแล่มๆเติมน้ำตาลทรายลงไปได้ค่ะ  แต่ควรให้มีรสเค็มนำ  ถ้าเติมน้ำตาลทรายลงไปใช้ซ่อมคนให้น้ำตาลละลายดีเสียก่อน ค่อยเอาลงคั่ว เวลาชิมรสอย่าให้เค็มจัดค่ะ  เพราะอาหารที่มีลักษณะแห้งๆแบบนี้รสจะเค็มขึ้นอีกเมื่อปรุงเสร็จ   จากนั้นก็เอากระทะตั้งไฟ  ใส่น้ำมันลงไป   เมื่อน้ำมันร้อนดีแล้ว  เทส่วนผสมในชามลงไปในกระทะ  รอจนไข่เริ่มสุกและเริ่มจับตัวเป็นแผ่นก็ใช้ทัพพีคนเร็วๆเลยค่ะ  พอน้ำเริ่มแห้งก็คั่วไปเรื่อยๆจนแห้งได้ที่เหมือนในภาพที่ 4   ปิดไฟแล้วตักใส่จานได้เลยค่ะ






ตักใส่จาน  โรยหน้าให้สวยงามด้วยใบมะกรูดหั่นฝอยและพริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบ   รับประทานกับข้าวสวยร้อนๆ หรือ มีผัดสดแกล้มด้วยก็จะได้คุณค่าทางอาหารครบ 5 หมู่ค่ะ


ก่อนจากกันมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับกะปิมาฝากกันด้วยค่ะ 

- กะปิช่วยบำรุงกระดูกเนื่องจากมีแคลเชี่ยมอยู่มาก แคลเซี่ยมในกะปิจะถูกปลดปล่อยออกมา เมื่อผ่านความร้อน

- กะปิมีวิตามินบี 12   ช่วยป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง

- การบริโภคกะปิที่ผ่านความร้อนช่วยป้องกันโรคฟันผุ

-  มีน้ำมันโอเมก้า 3 ชนิดเดียวกับที่อยู่ในปลาน้ำลึก ซึ่งน้ำมันชนิดนี้จัดเป็นไขมันชนิดดี

- มีวิตามินดี ที่ช่วยให้กระดูกแข็งแรง ช่วยคลายเครียดและทำให้อารมณ์แจ่มใส

- น้ำมันโอเมก้า 3 ในกะปิลดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด ทำให้ไม่มีอาการเลือดหนืด ป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน  น้ำมันโอเมก้า 3  ช่วยทำให้สมองไม่เฉื่อยชา บำรุงประสาท และช่วยป้องกันโรคหัวใจอีกด้วย  

การเลือกซื้อกะปิ ควรเลือกที่มีชมพูหม่นๆ หรือที่เรียกว่า "สีกะปิ" และควรเลือกซื้อกะปิที่มีเนื้อหยาบ มีจุดดำๆ เล็กๆ  หรือชิ้นส่วนของเปลือกกุ้งปะปนอยู่  ซึ่งจุดดำๆ เล็กๆเหล่านั้นก็คือตาของ"กุ้งเคย" เป็นกุ้งตัวเล็กๆที่นำมาทำกะปินั่นเอง  ไม่ควรเลือกซื้อกะปิที่บดจนละเอียดยิบและมีสีดำคล้ำๆ เพราะส่วนใหญ่กะปิเหล่านี้จะมีปลาปนอยู่ด้วย  นอกจากจะทำให้สีของอาหารไม่สวยแล้ว อาจจะมีกลิ่นคาวและมีรสเค็มจัด


สำหรับบล็อกนี้ก็คงต้องลากันเพียงเท่านี้นะคะ  ขอบคุณที่แวะมาชมค่ะ กลับมาพบกันใหม่คราวหน้า  สวัสดีค่ะ

วันเสาร์ที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

แกงเผ็ดหัวลูกตาลอ่อนกับหมูย่าง



ประมาณช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน แถวบ้านเจ้าของบล็อกจะมีลูกตาลออกมาเยอะค่ะ นอกจากจะนำเนื้อลูกตาลอ่อนมารับประทานสดแล้ว   ทางภาคใต้ยังนิยมนำหัวลูกตาลอ่อนหรือภาษาถิ่นเรียกว่า"หัวโหนด" มาใช้ปรุงอาหารอีกด้วย อย่างเช่น ยำหัวโหนด แกงคั่วหัวโหนด ที่เจ้าของบล็อกจะนำเสนอในวันนี้ค่ะ


เครื่องปรุง

1.ลูกตาลอ่อน                                                       4    ลูก
2.หมูเนื้อแดงติดมันเล็กน้อย                                1/2    ก.ก.
3.มะพร้าวขูด                                                     1/2    ก.ก.
4.น้ำพริกแกงเผ็ด                                            1 1/2    ขีด
5.กะปิ                                                            1 1/2    ขีด        
6.พริกชี้ฟ้าเม็ดใหญ่ เขียว แดง  อย่างละ                   2    เม็ด             
7.ใบมะกรูด ตามชอบ
8.น้ำปลาดี
9.น้ำตาลทราย
10.น้ำมันสำหรับทอด (ถ้าไม่สะดวกที่จะย่างหมู ใช้ทอดแทนก็ได้ค่ะ)




ล้างเนื้อหมูให้สะอาด ถ้าชิ้นหนาเกินไปผ่าครึ่ง  เจ้าของบล็อกอยู่บ้านในเมืองไม่สะดวกที่จะก่อไฟย่างหมูค่ะ เลยใช้วิธีทอดแทน ให้กลิ่นหอมเหมือนกันแต่หากใช้วิธีย่างกลิ่นจะหอมกว่า  เอากระทะตั้งไฟให้ร้อนใส่น้ำมันลงไป  ใส่หมูลงไปทอดให้สุกเหลืองค่ะ






หั่นเนื้อหมูเป็นชิ้นๆ พอดีคำ  พักไว้ก่อน  จากนั้นก็คั้นกะทิโดยคั้นแบบแยกหัวกะทิ และหางกะทิค่ะ  คั้นครั้งแรกใช้น้ำประมาณ  1  1/2  ถ้วยตวง  ได้หัวกะทิแล้วใส่ชามพักไว้   คั้นครั้งที่สองและสามให้ได้หางกะทิประมาณ 2-3  ถ้วยตวง  ใส่หม้อที่จะใช้แกง  พักไว้ก่อน





วิธีเตรียมหัวลูกตาลอ่อน หรือ หัวโหนด  นำลูกตาลอ่อนมาแกะกลีบเลี้ยงที่แข็งๆออกใหหมด  จากนั้นใช้มีดปอกเปลือกตรงส่วนที่เป็นสีขาวออกค่ะ  จากนั้นใช้ปลายมีดแซะเอาจุกแข็งๆตรงหัวออกให้หมด







ใส่น้ำในกะละมัง  ใส่เกลือป่นลงไปประมาณ  1 ช้อนโต๊ะ  แล้วค่อยๆสับหัวลูกตาลตรงส่วนที่อ่อนให้เป็นชิ้นบางๆลงไปในอ่างน้ำที่ใส่เกลือไว้   สับไปจนถึงส่วนที่แก่ค่ะ  ส่วนเนื้อลูกตาลควักออกมาใส่ลงในแกงด้วย 







หัวลูกตาลอ่อน หรือหัวโหนดที่พร้อมที่จะแกง






ใบมะกรูด  พริกชี้ฟ้า ล้างน้ำให้สะอาด ใบมะกรูดฉีกเป็นใบเล็กๆ  พริกชี้ฟ้าหั่นแฉลบตามภาพ

เตรียมเครื่องปรุงพร้อมแล้วก็ลงมือแกงกันเลยค่ะ







เอาหม้อที่ใส่หางกะทิไว้ตั้งไฟ  พอเดือดนำน้ำพริกแกงและกะปิลงไปละลาย ปล่อยให้เดือดอีกครั้งจนน้ำแกงเริ่มมีกลิ่นหอม  ใส่หัวลูกตาลอ่อนกับหมูทอดลงไป  ก่อนใส่หัวลูกตาลอ่อนบีบให้สะเด็ดน้ำก่อนนะคะ  ไม่งั้นแกงจะมีน้ำมากเกินไปทำให้รสชาติจืดลงไปกว่าที่ควรจะเป็นค่ะ






ใส่หัวลูกตาลกับหมูทอดลงไปแล้ว รอให้เดือด  คนให้ทั่ว  จากนั้นจึงใส่หัวกะทิลงไป  คนอีกครั้ง  ชิมรสชาติดูให้ออกรสเผ็ด เค็ม หวานปะแล่มๆ  ถ้ารสชาติยังไม่ถูกใจสามารถเติมน้ำปลาดี กับน้ำตาลทรายเพิ่มได้  เจ้าของบล็อกเติมน้ำปลาลงไปอีก  2  ช้อนโต๊ะ  กับน้ำตาลทรายอีก  1  ช้อนโต๊ะ  ทั้งนี้การที่จะเติมน้ำปลาเพิ่มหรือไม่  ก็ขึ้นอยู่กับความเค็มของน้ำพริกแกงและกะปิค่ะ  เมื่อชิมรสถูกใจแล้ว ปล่อยให้เดือดอีกครั้งก็ปิดไฟได้เลย  อย่าปล่อยให้เดือดนานค่ะ  เพราะหัวกะทิจะแตกมัน  แล้วจะไม่อร่อย







ตักใส่ชามเสิร์ฟได้เลยค่ะ






























สำหรับบล็กนี้ก็ลากันไปเพียงเท่านี้ก่อนนะคะ  ขอบคุณทุกท่านที่แวะเข้ามาชม  สวัสดีค่ะ  ^_^

วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ส่งท้ายฤดูร้อนปีนี้ด้วยทริป "เที่ยวหาดแหลมโพธิ์กับหลานๆ"

24 มีนาคม 2556  พาหลานๆไปเล่นน้ำทะเลกันที่หาดแหลมโพธิ์ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีค่ะ  พุมเรียงเป็นชุมชนเก่าแก่ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นนับถือศาสนาอิสลาม และทำอาชีพทอผ้าไหม ผ้าไหมพุมเรียงเป็นสินค้าที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ชุมชนเพราะเป็นผ้าไหมที่มีคุณภาพดี ทอแบบยกดิ้นเงินและดิ้นทอง ลวดลายสวยงามและมีความเป็นเอกลักษณ์ของชาวพุมเรียงเช่นลายราชวัตร ลายดอกโคม ลายดอกพิกุล ลายนพเก้า และลายยกเบ็ด

ที่ต.พุมเรียงมีชายทะเลที่น่าเที่ยวพักผ่อนคือหาดแหลมโพธิ์  สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา  มีร้านอาหารทะเลมีชื่อเสียงและน่าแวะไปชิมเช่นร้านพลับพลาซีฟู๊ด  ซึ่งอาหารทะเลที่นั่นสด อร่อย และที่หาดแหลมโพธิ์ยังมีหอยขาวที่หาได้ง่ายและนิยมรับประทานกันมากด้วย

วันนี้พาไปเที่ยวหาดแหลมโพธิ์กันนะคะ  ออกเดินทางจากบ้านกันตอนบ่ายสามกว่าๆ ตั้งใจจะไปเล่นน้ำกันที่บริเวณสวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา แต่แดดร้อนมากจนหลานๆงอแง  ก็เลยขับรถเลยเข้าไปที่รุ่งอรุณรีสอร์ท  ซึ่งพอจะมีร่มไม้ให้นั่งพักเหนือ่ยบ้าง 






ชายหาดที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติฯตอน 4 โมงเย็น ร้อนมาก ไม่ลงเล่นน้ำค่ะ เดี๋ยวค่อยกลับมาใหม่



ชายหาดแหลมโพธิ์ที่รุ่งอรุณรีสอร์ท หาดทรายที่นี่ไม่ค่อยขาวนักเพราะมีดินเลนปน จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวค่ะ  แต่เจ้าของบล็อกชอบเพราะเงียบสงบดี คนไม่พลุกพล่าน



 




หลานสาวคนเล็ก น้องต้นอ้อ ^_^




คนนี้หลานสาวคนโต น้องต้นข้าว










เล่นกันหนุกหนาน





แดดแรงก็บ่ยั่นดอกค่า















คนนี้นางแบบซะ









กล้องจับคนนี้ได้มากที่สุดล่ะค่ะ เพราะอยู่ใกล้ๆ ไม่กล้าลงไปเล่นน้ำตรงที่ลึกๆ


























สามคนแม่ลูก





หมูน้อยหงายหลังล้มกลิ้งซะแล้ว





วันนี้อ้อรมณ์ดีนะป้า (ถึงว่าจิ ยอมให้ถ่ายรูป 555++)


















   






















เหนื่อยแล้วอ่ะป้า  หิวแย้วด้วยไปหาไรกินกันเถอะ





อ้อไปละนะ  ใครจะไปก็ตามมา





กลับมาที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษาอีกครั้งค่ะ  พากันมาหาอะไรกินเพราะหิวซกกันทุกคนที่สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา ต.พุมเรียง ในตอนเย็นๆผู้คนจะเยอะมาก  ที่นี่กว้างขวาง บรรายาศดีเพราะอยู่ติดชายทะเล  มีสนามเด็กเล่น มีสถานที่ออกกำลังกาย มีจักรยานให้เช่า  แถมมีอาหารวางขายที่ด้านหน้าสวนสาธารณะฯมากมาย  โดยเฉพาะถ้าเป็นอาหารทะเลวัตถุดิบที่ใช้จะสดมากและราคาไม่แพงค่ะ






บ่องตง  อ้อหิว ฝุด! ฝุด!  ขอโซ้ยยำมาม่าก่องนะ




















เติมพลังเสร็จไปเล่นที่สนามเด้กเล่นกันต่ออีก  ไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย
จนตะวันใกล้จะตกดินถึงได้คิดว่าควรจะกลับบ้านกันได้แระ 








บล็อกนี้ใส่ภาพเยอะมาก ลากันห้วนๆด้วยภาพนี้เลยก็แล้วกันค่ะ ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมชมนะคะ  สวัสดีค่ะ